คำพิพากษาย่อสั้น
แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 จะมิได้บัญญัติถึงการริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำผิดไว้โดยเฉพาะ แต่ถ้าได้ความว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) อันเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกำหนด อันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56, 83 และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ต้องถือว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราเป็นจำนวนมาก มีส่วนทำให้ถนนหลวงชำรุดเสียหาย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมเป็นจำนวนมากนั้น ก็โดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้ความจากคำฟ้อง คำรับสารภาพของจำเลยและข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป มาประกอบดุลพินิจในการสั่งริบของกลางนั่นเอง หาใช่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นไม่