คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883/2542

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสาร สทก.1 ซึ่งมีเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ได้รับสิทธิตามเอกสารนี้ทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม แม้ในหนังสือเอกสารสิทธิ สทก.1 ของที่ดินพิพาทจะระบุว่าอนุญาตให้มีกำหนด 5 ปี เท่านั้น นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2531 ก็ตามแต่เมื่อครบกำหนด 5 ปี ยังไม่มีการเพิกถอน สทก.1 ดังกล่าว แสดงว่าที่ดินพิพาทยังมีเอกสารสิทธิ สทก.1 อยู่ แม้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการซื้อขายที่ดินที่ทางราชการมีข้อกำหนดห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จำเลยที่ 1 มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองก็ตาม โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ตามเอกสารสิทธิ สทก.1 ดังนั้นข้อตกลงยินยอมของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทจึงไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะตกลงยินยอมกับโจทก์อย่างไรก็ตาม เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อีกทั้งจุดประสงค์ของการใช้เส้นทางพิพาทก็เพื่อโจทก์จะได้สามารถเข้าไปสู่ที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อที่ว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทอย่างไรจึงไม่เป็นข้อสาระอันควรแก่การวินิจฉัย เพราะถึงอย่างไรก็ตามจำเลยทั้งสองก็มีสิทธที่จะห้ามมิให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทได้อยู่แล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

สุเมธ ตังคจิวางกูร
สุนทร สิทธิเวชวิจิตร
ประสพสุข บุญเดช

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android