คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2543

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
++ เรื่อง ฝากทรัพย์ ตัวแทน ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 4สาขาบางนา มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี จำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการ โจทก์เป็นลูกค้าจำเลยที่ 4 สาขาบางนาโดยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเลขที่ 058-2-04775-9 ต่อมาวันที่ 20เมษายน 2538 มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าว 2 ครั้งรวมเป็นเงิน 350,000 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ข้อแรกว่าลายมือชื่อในใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 เป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เมื่อพิเคราะห์ใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 แล้ว ปรากฏว่าลงวันที่ 20 เมษายน 2538 แต่ตามเอกสารหมาย จ.20 ตีตราประทับของจำเลยที่ 4 สาขาบางนาว่า วันที่ 20 มีนาคม 2538 ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของโจทก์ก็ไม่ถูกต้องโดยระบุบัญชีเลขที่058-2-0477-9 ที่ถูกต้องบัญชีเลขที่ 058-2-04775-9 ในช่องผู้จ่ายและอนุมัติไม่มีลายมือชื่อผู้จ่ายเงินและผู้อนุมัติ ในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและช่องลายมือชื่อผู้รับเงินแต่ละช่องมีการลงลายมือชื่อถึงสองลายมือ เมื่อนำลายมือชื่อดังกล่าวเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นได้ว่า ลายมือแรกไม่มีลักษณะรูปแบบใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันแต่ประการใด ส่วนลายมือชื่อที่สองดูผิวเผินเห็นว่ามีคำว่า "สุ" ซึ่งเป็นชื่อคำแรกของโจทก์ แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ชัดว่าลีลาในการเขียนและคุณสมบัติรูปร่างตัวอักษรแตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่วนใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.21 ในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีมีถึง 4 ลายมือชื่อ เป็นหมึกสีดำกับสีน้ำเงิน ลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อผู้รับเงินมีลายมือชื่อเดียวเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งลายมือชื่อทั้งห้าลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและผู้รับเงินแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและไม่คล้ายคลึงกันแต่ประการใดเลย ซึ่งศาลสามารถตรวจพิเคราะห์และมีความเห็นได้เองโดยไม่จำต้องอาศัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ประการใดและไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญประกอบการพิจารณาตามที่จำเลยที่ 1และที่ 4 ฎีกาแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและผู้รับเงินแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 4 เช่นนี้แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มาถอนเงินตามใบถอนเงินทั้งสองฉบับ ซึ่งมีข้อพิรุธ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อผู้ถอนเงินและผู้รับเงิน จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยความละเอียดรอบคอบเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแล้วย่อมจะทราบว่าไม่คล้ายคลึงกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในธุรกิจธนาคารหาได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในธุรกิจธนาคารไม่ เป็นการกระทำผิดหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์กับโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 4 ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนและกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ในกิจการนี้ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป คงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อสุดท้ายที่ฎีกาว่า โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อร่วมด้วย เพราะโจทก์ต้องเก็บรักษาสมุดคู่ฝากไว้เป็นอย่างดีมิใช่นำไปเก็บไว้ในช่องเก็บของหน้ารถยนต์ของโจทก์และโจทก์ทราบว่าสมุดคู่ฝากหายหลังจากเกิดเหตุหลายเดือน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่โจทก์นำสมุดคู่ฝากไว้ในกระเป๋าหนังใส่ไว้ในช่องเก็บของหน้ารถยนต์ของโจทก์และเพิ่งทราบว่าสมุดคู่ฝากหายไปแล้วหลายเดือน ไม่ใช่กรณีผิดปกติวิสัย แต่เป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ และพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 4 นำสืบยังฟังไม่ได้ว่า ที่สมุดคู่ฝากหายไปนั้นเกิดจากความจงใจของโจทก์ เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เพราะมีผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในใบถอนเงินและนำไปถอนเงินจากจำเลยที่ 4ซึ่งจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ตัวแทนของจำเลยที่ 4 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในธุรกิจ ธนาคารได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ปลอมไปดังที่วินิจฉัยข้างต้น โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย เหตุที่สมุดคู่ฝากของโจทก์หายไปไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว สรุปแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์.(ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - มงคล คุปต์กาญจนากุล - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ผู้พิพากษา

ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์
มงคล คุปต์กาญจนากุล
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android