คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ศาลได้อ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยเข้าใจแล้ว จำเลยแถลงสู้คดีและจะให้การวันนัดพิจารณา ครั้นถึงวันนัดพิจารณา จำเลยยื่นคำให้การ 1 ฉบับ พร้อมกับคำร้องอีก 1 ฉบับ โดยในคำให้การระบุว่า จำเลยทราบฟ้องของโจทก์แล้ว ขอรับสารภาพในการกระทำความผิดตามฟ้องในข้อหารับของโจร ตาม ป.อ.มาตรา 357 เพียงข้อหาเดียว ขอปฏิเสธข้อหาลักทรัพย์ส่วนคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกันนั้น แม้จะมีข้อความซึ่งมีความหมายว่าจำเลยไม่รู้ว่าทรัพย์ที่รับไว้ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่ก็เป็นข้อความในคำร้องที่จำเลยยื่นเข้ามาเพื่ออ้างเหตุให้ศาลรอการลงโทษเท่านั้น ไม่ใช่คำให้การว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิด และเมื่อศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยในวันเดียวกันนั้น จำเลยก็ยืนยันตามคำให้การที่รับสารภาพฐานรับของโจรดังกล่าว ปรากฏตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในคำให้การจำเลย นอกจากนี้ศาลชั้นต้นยังจดรายงานกระบวนพิจารณาในวันดังกล่าวโดยระบุว่า จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ไม่ต่อสู้คดี ขอให้ลงโทษสถานเบา ซึ่งจำเลยก็ลงชื่อไว้อีก เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่า จำเลยยืนยันที่จะให้การรับสารภาพฐานรับของโจรตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้พิจารณาใหม่โดยไม่วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบศาลฎีกาเห็นควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา

จรัญ หัตถกรรม
สมปอง เสนเนียม
ผล อนุวัตรนิติการ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android