คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2536

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ว่าผู้คัดค้านจะมิได้ปฏิเสธข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่า ต.ซื้อที่พิพาทโดยใส่ชื่อช. ไว้ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านก็ได้บรรยายไว้ในคำร้องคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิที่ผู้คัดค้านได้มาโดยซื้อมาจาก ช. ตามส่วนที่ช.เจ้าของเดิมมีอยู่ช. ได้บอกขายที่พิพาทก่อนผู้คัดค้านซื้อเป็นเวลานาน ถือว่าผู้คัดค้านได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้านแล้วว่าช. เป็นเจ้าของที่พิพาท ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ม.มอบที่ดินให้แก่ ช. เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมเงินไปนั้น จึงเป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งการเป็นเจ้าของที่พิพาทซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะนำสืบได้ แม้ว่าผู้คัดค้านกล่าวในคำร้องคัดค้านเพียงว่า ช.เจ้าของเดิมได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมาไม่เคยทอดทิ้งก็ตามผู้คัดค้านก็ชอบที่จะนำสืบได้ว่า ช. ให้ จ. ป. และบุคคลอื่นเช่าที่พิพาทเพราะเป็นการนำสืบว่า ผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยให้บุคคลอื่นครอบครองแทน เป็นการนำสืบตามประเด็นที่เกิดจากคำร้องคัดค้าน หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่ แม้ว่าผู้คัดค้านอ้างเอกสารหมาย ค.10ค.11ค.15ถึงค.20และ ค.23โดยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของช. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านได้ความว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ก็ตาม แต่เมื่อตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ปรากฏว่าศาลได้รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ สำหรับเอกสารหมาย ค.10และค.17 แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ก็ตาม แต่ตามมาตรา 87(2) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพราะเอกสารหมาย ค.10 เป็นสัญญากู้ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องกับ ช. และผู้ร้องก็ได้นำสืบพยานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวด้วย ส่วนเอกสารหมาย ค.17 เป็นใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2513 ถึงปี 2525 ของ ช.จำนวน13ฉบับซึ่งช.ได้ส่งศาลตามคำสั่งเรียกก่อนวันสืบพยานนัดแรกเป็นเวลากว่า 1 เดือนผู้ร้องจึงมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวก่อนวันสืบพยานได้อยู่แล้วการที่ผู้คัดค้านมิได้ส่งสำเนาให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ร้อง ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้านได้ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านอันดับ 8 ระบุว่า"เอกสารเรื่องราวการจดทะเบียนนิติกรรมตลอดจนบันทึกข้อความ แผนที่หรือถ้อยคำบุคคลใด ๆ หรือหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการ หรือบุคคล หรือเอกสารทุกชนิด ทุกฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับโฉนดที่ดินเลขที่ 906 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดทำและเก็บรักษาไว้ในแฟ้มเรื่องราวของโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวทั้งหมดทุกฉบับ อยู่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ" เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกคำบันทึกของ ส.ช่างแผนที่ที่ได้บันทึกถ้อยคำของ ฮ. ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน2528 คือวันทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 906หน้าโฉนด 156 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารบันทึกถ้อยคำของ ฮ. ไปให้ศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้หมายเอกสารนั้นเป็นเอกสารหมาย ค.49จึงฟังได้ว่าเอกสารหมายค.49เป็นเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอันดับที่ 8 ของผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้คัดค้านได้ระบุอ้างพยานเอกสารฉบับนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา88 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย ค.49ของผู้คัดค้านไว้เป็นพยานหลักฐานและอนุญาตให้ผู้คัดค้านนำสืบเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารฉบับนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาของผู้ร้องมิได้บรรยายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ในข้อไหน เป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงขึ้นกล่าวให้ชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ตาราง 6

ผู้พิพากษา

อัครวิทย์ สุมาวงศ์
เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์
สมศักดิ์ วิธุรัติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android