คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5805/2544

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ การที่จำเลยให้ นายช่างเทศบาลเขียนแบบแปลนให้ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ จำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ย่อมต้องรู้ว่าการก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
จำเลยได้รับหนังสือจากนายกเทศมนตรีให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 โดย ลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้รับแทน และเมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุในวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ก็พบคนงานกำลังก่อสร้างอาคารพิพาทอยู่ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 รวมเป็นเวลา 121 วัน แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง 120 วัน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานท้องถิ่นเพียง 120 วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 (รวมเวลา 129 วัน) จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การลงโทษปรับจำเลยหลังจากวันนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ถูกต้องตรงกับคำฟ้อง
การที่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา 40 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ สั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนจึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยยังคงก่อสร้างต่อไปจำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 40 (1) และกรณีนี้มิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิด จึง ไม่มีอาจนำบทบัญญัติมาตรา 2 วรรคสอง แห่ง ป.อ. มาบังคับได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 21
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 39 ทวิ
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 41
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 42

ผู้พิพากษา

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
อรพินท์ เศรษฐมานิต
อภิชาต สุขัคคานนท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android