คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2511

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรกนั้น มีความหมายว่า บรรดาที่หลวงทั้งหลายซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ก็ดี หรือที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดาไม่ไช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ และไม่ใช่ทรัพย์ที่จะถือเอาหรือโอนกันไม่ได้เหล่าหนี้ก็ดี ถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกัน เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "บรรดาที่ดินดังกล่าวในวรรคแรกนั้น เมื่อมีเหตุผลอันสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะจัดขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองได้..." นั้น หมายความว่าถ้ารัฐเห็นสมควรจะให้ทบวงการเมืองใดรับผิดชอบดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันเอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจที่จะจัดขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองนั้นๆ ได้
ที่ดินที่ขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองอื่นไว้แล้วแต่เดิมก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับนั้น ไม่มีคำสั่งกำหนดว่าให้ปฏิบัติอย่างไร และในทางปฏิบัติบรรดาที่ดินราชพัสดุที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังก็คงใช้อำนาจปกครองอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้เพราะถือได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นของกระทรวงการคลังแล้วโดยอนุโลมตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของกระทรวงการคลังว่ายังคงมีอำนาจปกครองที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุไว้แล้วต่อไปตามเดิม อำนาจของกระทรวงการคลังจึงมิได้ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก ที่พิพาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องได้
การเปลี่ยนชื่อกระทรวงทบงกรมต่างๆ จะทำได้ก็โดยตราขึ้นเป็นกฎหมาย ฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ศาลรับรู้ได้เองว่ากระทรวงพระคลังฯ นั้นคือกระทรวงการคลัง
กำแพงเมืองและคูเมืองเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะแม้ต่อมากำแพงจะถูกรื้อทำลายลง และคูเมืองตื้นเขินขึ้นก็ตาม แต่ทางราชการก็ได้ถือว่าเป็นที่หลวงหวงห้ามตลอดมา ไม่ยอมให้ราษฎรยึดถือเอาเป็นเจ้าของ แม้จะขอเช่าก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน ดังนี้ กำแพงเมืองและคูเมืองจึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพราะเป็นที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
แม้นายอำเภอจะได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทให้จำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิในที่พิพาท เพราะที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ และจะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินไม่ได้
การได้สิทธิจดทะเบียนการจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตแต่ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาหรือของเอกชนจะนำมาใช้บังคับในกรณีนี้หาได้ไม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะปลูกสร้างโดยสุจริตก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิขอให้จดทะเบียนการจำยอมได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2511)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84
  • พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2506 มาตรา 9

ผู้พิพากษา

กิตติ สีหนนทน์
แถม สิริสาลี
อาจิต ไชยาคำ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android