คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 31 ต.ค. 2559 09:54:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722

ผู้พิพากษา

ประยูร ณ ระนอง
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android