คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2512

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ผู้เยาว์อายุ 18 ปีมีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรสย่อมยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ผู้เยาว์ลงนามทำสัญญาโดยมีผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานในเอกสารสัญญานั้นถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว
ทายาททุกคนทำสัญญาแบ่งปันมรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรม เป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ดังนั้น เมื่อยังมิได้รับอนุญาตจากศาล ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดก
สัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกซึ่งผู้เยาว์ทำและผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมตกเป็นโมฆะ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำขึ้นระหว่างผู้เยาว์กับทายาทอื่นอีกหลายคน แต่จำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์มรดกที่จะได้รับส่วนแบ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวพัน ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ ย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น
การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้ใดครอบครองมรดกส่วนไหนก็ย่อมมีสิทธิเฉพาะส่วนนั้น ส่วนอื่นที่ตนมิได้เกี่ยวข้อง ย่อมขาดอายุความมรดก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

ผู้พิพากษา

สุธี โรจนธรรม
ไฉน บุญยก
วิริยะ เกิดศิริ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android