คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 พ.ย. 2559 15:19:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เดิมจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ แต่เนื้อหาของคำอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และข้อเท็จจริงอื่นซึ่งได้มีการกล่าวอ้างมาแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งอุทธรณ์ฉบับเดิมก็ได้มีการกล่าวไว้แล้วเพียงแต่ไม่มีการยกข้อความซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้หรือข้อความในสัญญาขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ เพียงแต่อ้างว่ามีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหน้าใดของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออยู่ในสัญญาข้อใดตามเอกสารที่แนบท้ายมาเท่านั้น อุทธรณ์ฉบับใหม่จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงเข้ามาใหม่ต่างจากอุทธรณ์ฉบับเดิม แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดในอุทธรณ์ฉบับเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชอบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดิมของจำเลยที่ 1 ได้
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้รับอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำคัดค้าน คงมีแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณีทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 74 วรรคสอง ที่ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบเพื่อยื่นคำคัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบหรือผิดกฎหมาย
เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้นำข้อเท็จจริงในคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาพิจารณาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติตามระเบียบข้อบังคับหรือตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องวินิจฉัยตามคำโต้แย้งคัดค้านอุทธรณ์ทุกประเด็น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์เฉพาะประเด็นสำคัญ ถือว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตแล้ว ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยชอบในการบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากมีการนำไปจดทะเบียนและยังไม่ได้รับการเพิกถอนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า อนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบที่จะวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเลิกกันแล้ว เนื่องจากจะกระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแสดงได้ว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74

ผู้พิพากษา

รัตน กองแก้ว
อร่าม เสนามนตรี
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android