คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 มิ.ย. 2559 10:59:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังคงทำละเมิดอย่างต่อเนื่องและโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ทำให้อาคารตึกแถวที่โจทก์ครอบครองและสินค้าของโจทก์ที่วางขายที่อาคารตึกแถวได้รับความเสียหาย ขอให้ใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นทั้งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดก บ. บ. เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ขณะ บ. ยังมีชีวิตอยู่ และปรากฏว่าศาลตั้งโจทก์กับ ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ร่วมกัน พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้รับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารตึกแถวได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ด้วย ซึ่งหากโจทก์ได้รับค่าเสียหายเกี่ยวกับอาคารตึกแถวมาก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทายาททุกคนของ บ. มิใช่เพื่อโจทก์เพียงผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาคารตึกแถว เช่น ค่าสินค้าของโจทก์ที่เสียหาย และค่าขาดประโยชน์ เป็นต้น เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 448
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

ประทีป ดุลพินิจธรรมา
วิรุฬห์ แสงเทียน
ปกรณ์ มหรรณพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android