คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 มิ.ย. 2559 14:27:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกเงินอันเกิดจากการเลิกจ้างจากจำเลย ส่วนการที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับเงินอันเกิดจากการเลิกจ้างตามกฎหมายใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับข้อเท็จจริงจากการเลิกจ้างเข้ากับตัวบทกฎหมาย เมื่อจำเลยไม่จ่ายเงินอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุ โจทก์ทั้งหกจึงถูกโต้แย้งสิทธิ มีอำนาจฟ้องเรียกเงินนั้นจากจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
จำเลยเป็นองค์การของรัฐและเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 6, 7 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ใน (1) ประเภทกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งจำเลย บุคคลทั้งหกเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจตามความหมายของคำว่า "พนักงาน" เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ถูกยกเลิก จำเลยก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 ตามความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ใน (1) ประเภทกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งจำเลย โจทก์ที่ 4 และที่ 6 ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อมาจึงเป็นลูกจ้างตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" เมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แก่จำเลยตามมาตรา 5 จำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และอยู่ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) 11 วรรคสอง เมื่อ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ใช้บังคับแล้วระเบียบนี้ก็ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 95 วรรคหนึ่ง
ข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยบำเหน็จของพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2520 ข้อ 4 กำหนดให้พนักงานได้รับบำเหน็จเมื่อต้องออกจากงานเพราะข้อ 4.1 ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ หมายความว่าเป็นการออกจากงานไม่ว่ากรณีใดซึ่งรวมถึงการลาออกและออกด้วยเหตุเกษียณอายุด้วย ไม่ใช่การออกจากงานเฉพาะเหตุเกษียณอายุจึงจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ ส่วนข้อ 4.2 ถึง 4.4 จะได้รับบำเหน็จเมื่อทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ ในกรณีหย่อนสมรรถภาพ ป่วยเจ็บถึงแก่ความตาย ข้อ 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จ่ายบำเหน็จแก่บุคคลตามข้อ 4 ในจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน ดังนั้นผู้ที่ออกจากงานตามข้อ 4.1 จึงได้รับบำเหน็จตามข้อ 5 เริ่มต้นจากเมื่อทำงานมาแล้วครบ 5 ปีบริบูรณ์ (ซึ่งเป็นเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์) เท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย 5 เดือน หรือ 150 วัน และเพิ่มขึ้นในอัตราจำนวนปีเวลาทำงาน 1 ปี ต่อเงินเดือน 1 เดือน แตกต่างจากบำเหน็จตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 ที่กำหนดให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปี ขึ้นไป ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นความแตกต่างทั้งคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จ อัตราเริ่มต้นบำเหน็จและอัตราบำเหน็จที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งบำเหน็จตามข้อ 4.1 และข้อ 5 ไม่ใช่เงินที่จำเลยต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างพนักงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาทำงานที่ติดต่อกันครบ 120 วัน ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป ดังนั้นบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้บุคคลทั้งหกไปแล้วจึงไม่ใช่เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่เงินค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุที่จะนำมาหักออกจากเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามข้อ 47 วรรคสอง จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้โจทก์แต่ละคนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
อนันต์ ชุมวิสูตร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android