คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18329/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 31 ต.ค. 2559 10:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สิทธิบัตรพิพาทเป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาโดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรพิพาทในคดีนี้ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิบัตรพิพาทเป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5

ผู้พิพากษา

อนันต์ วงษ์ประภารัตน์
นวลน้อย ผลทวี
ไมตรี สุเทพากุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android