คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 มิ.ย. 2559 10:59:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นจะไม่ปรากฏคำว่า "แกนนำ" แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า "แกน" ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า " นำ" ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น "แกนนำ" เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า "แกนนำ" เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา

ธานิศ เกศวพิทักษ์
เมทินี ชโลธร
ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android