คำพิพากษาย่อสั้น
ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่เป็นข้อโต้แย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากที่คู่ความนำสืบโต้แย้งในระหว่างการพิจารณา คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าการที่ไม้สักต้องห้ามขนย้ายออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน ถือว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบบ้านไม้สักให้แก่โจทก์อันจะถือว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก และหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ที่รับไว้ที่เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้นก็ไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องขออนุญาตรื้อถอนบ้านหรือขออนุญาตย้ายไม้สัก ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตรื้อถอนบ้านต่อเจ้าพนักงานจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่ยังไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยเช่นกันและถือว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญานั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
คำว่า "มัดจำ" ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว..." ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า " สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท" ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน