คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 2 ส.ค. 2559 13:21:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การสมรส เป็นพฤติการณ์ที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ความสมัครใจและความรักของทั้งสองฝ่ายที่จะอยู่ร่วมกันเป็นเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีวัฒนธรรมประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ข้อที่สำคัญ คือ กฎหมายไม่สามารถบังคับให้ชายหญิงอยู่ด้วยกันหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสได้ กฎหมายลักษณะครอบครัวจึงถูกบัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้บังคับและแก้ปัญหาอันเกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกันของชายหญิงที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาโดยทั่วไป จะนำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับหาได้ไม่ มิฉะนั้นศาลต้องบังคับให้คู่สัญญาจดทะเบียนสมรสหรืออยู่กินฉันสามีภริยากับอีกฝ่ายหนึ่งตามวัตถุประสงค์แห่งหนี้อันเป็นมูลหนี้เดิมเสียก่อนและจะทำให้กฎหมายลักษณะครอบครัวไม่มีผลใช้บังคับด้วย
คดีนี้โจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ได้มอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ยอมสมรส คู่สัญญาของการหมั้นหมายถึงโจทก์และจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 สัญญาหมั้นจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์มอบทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถือเป็นการมอบสินสอดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามกฎหมาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1437 แต่ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเสน่หา ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีก ก็หาจะบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนทรัพย์สินแก่โจทก์ฐานจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นได้ไม่
ปัญหาว่าจะใช้บทบัญญัติกฎหมายใดบังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ผู้พิพากษา

จรูญ ชีวิตโสภณ
พฤษภา พนมยันตร์
บุญไชย ธนาพันธ์สิน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android