คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2560 10:04:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกลงในหน่วยความจำถาวร (Hard Disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยใช้วิธีบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ และบรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานพบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทั้งสองทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย เมื่อหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำการละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดประกอบกันจึงจะสามารถทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ กรณีจึงต้องริบเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30

ผู้พิพากษา

ประพาฬ อนมาน
นวลน้อย ผลทวี
ไมตรี สุเทพากุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android