คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16130/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 เม.ย. 2559 13:48:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักในการยื่นฎีกาประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างนั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และโจทก์คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวโดยคัดลอกคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ชนิดคำต่อคำ ซึ่งข้อความในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์นั้นล้วนมุ่งหมายที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยตรงในประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น โดยโจทก์อาศัยข้อเท็จจริงและอ้างอิงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อสนับสนุนแทบทั้งสิ้น ไม่มีข้อความตอนใดระบุเลยว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด และรายละเอียดส่วนใด หากยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ปัญหาตามข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้หลายประการที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งแตกต่างไปจากเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยอีกด้วย ฎีกาของโจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลมานั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและด้วยเหตุผลใด มิใช่อ้างแต่เพียงคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลแล้วเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาที่ถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นฎีกาของโจทก์นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปแล้ว ไม่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเหลืออยู่ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ต่อไป จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และถือไม่ได้ว่าได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์มาก็เป็นการไม่ชอบ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ อเนกพุฒิ
ประยูร ณ ระนอง
อุดม สิทธิวิรัชธรรม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android