คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 15 ธ.ค. 2559 12:41:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อหน้าจอของเครื่องจีพีเอสของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ กับหน้าจอของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 หรือเรียกว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งให้เครื่องทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้ใช้ได้สั่งการปรากฏว่ามีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองโปรแกรมต่างมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำงานต่างๆ ซึ่งผู้สั่งหรือผู้ใช้จะใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่ง เพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลแล้วแสดงผลที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้ใช้เครื่องจะสื่อสารกับเครื่องอย่างไร และเครื่องจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้นี้ เป็นสิ่งที่โจทก์สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ การที่จะรับฟังว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่จะต้องปรากฏว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำหรือลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ถูกเขียนขึ้นโดยมีการทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันอย่างใดและในส่วนใดบ้างที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ทั้งรายละเอียดของงานล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ว่าจ้างประสงค์ ซึ่งถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็เป็นความคล้ายคลึงในส่วนของแนวความคิด จึงหาใช่ข้อยืนยันหรือพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เสมอไป ประกอบกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดที่แตกต่างกันยังสามารถสั่งให้แสดงผลที่หน้าจอประมวลผลหรือที่เรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ออกมาเหมือนกันได้ และการดูชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจดจำไปเพื่อเขียนชุดคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่หากดูชุดคำสั่งแล้วได้แนวคิดเพื่อไปเขียนชุดคำสั่งของตนเองเป็นโปแกรมขึ้นมาใหม่ย่อมเป็นไปได้มากกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 69

ผู้พิพากษา

สุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง
นวลน้อย ผลทวี
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android