คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ในต่างประเทศหลายประเทศ โจทก์ที่ 1 เคยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย หลังจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองพบว่าจำเลยทั้งสี่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า แครีบัลค์ (CarriBulk) เมื่อโจทก์ทั้งสองพิจารณารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ (specification) และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์ (drawings) แล้วเชื่อว่ามีการลอกเลียนข้อมูล อันเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงมีเหตุผลสมควรให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่เพื่อปกป้องสิทธิของตนตามกฎหมายได้ การที่โจทก์ทั้งสองมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ทั้งสองและขอให้ยุติการกระทำละเมิด เป็นขั้นตอนตามปกติของการดำเนินการก่อนฟ้องคดี ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารก็เป็นสิทธิของคู่ความที่เห็นว่าเอกสารที่ตนประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โดยคู่ความฝ่ายนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้บุคคลที่ครอบครองส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีของตน แม้ภายหลังโจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของตน ข้อเท็จจริงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองต้องการกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่โดยมุ่งต่อผลที่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 การดำเนินคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้า และโจทก์ที่ 1 จัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ดังกล่าว โดยปรากฏในวัตถุประสงค์ ข้อ 1 ตามหนังสือรับรองบริษัทโจทก์ว่า "ทำการผลิต จำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในการบรรจุสินค้าในอุตสาหกรรมขนส่ง..." การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าเพื่อการขนส่งด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้า (flexible liner) ก็คือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับตู้ขนส่งสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์นั่นเอง สินค้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตและจำหน่ายดังกล่าวจึงเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองในประเทศไทย โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายจากการออกสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 หากการออกสิทธิบัตรนั้นเป็นการออกสำหรับการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง
การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย (1) ถุงลมหกเหลี่ยมด้านไม่เท่าเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดที่ก่อให้ผนังของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าบริเวณที่ถุงลมติดตั้งอยู่ยกตัวดันให้สินค้าไหลมาสู่ช่องสำหรับเปิดให้สินค้าไหลออก ที่ถุงลมประกอบด้วยท่ออ่อนตัวสำหรับเป่าลมที่มีลิ้นเปิดปิดสำหรับควบคุมการไหลของอากาศเข้าสู่ถุงลม และมีวาล์วแบบเกลียวหมุนสำหรับปล่อยอากาศออกจากถุงลม (2) แถบอ่อนตัว ซึ่งมีสองชนิด ชนิดแรกเป็นแถบอ่อนตัวที่แต่ละอันติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง มีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ชนิดที่สองเป็นแถบอ่อนตัวแบบทึบ ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้าง (3) ชุดขอแขวนติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ชุดขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า เมื่อพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 และสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าหรือคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่มีส่วนประกอบคือถุงลมที่เมื่อเติมอากาศเข้าไปจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัดและที่ถุงลมมีท่ออ่อนตัวซึ่งมีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุน ไม่ปรากฏว่ามีแถบอ่อนตัวติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้าง และไม่ปรากฏว่ามีชุดขอแขวนซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุจำนวน 4 รู แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวเข้ากับตู้ขนส่งสินค้า ดังนั้น การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่ใช่การประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
กรณีที่ข้อถือสิทธิมีความชัดเจน ลักษณะของการประดิษฐ์ต้องถือตามข้อความที่บรรยายในข้อถือสิทธินั้น ส่วนรูปเขียนประกอบเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้ข้อความที่บรรยายชัดเจนขึ้น ในเรื่องถุงลม จำเลยที่ 2 บรรยายในข้อถือสิทธิว่า "...ถุงลมดังกล่าวเมื่อเติมอากาศเข้าไปในถุงลมจนเต็มแล้วจะขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด..." ซึ่งมีความชัดเจนเพียงพอ และไม่อาจตีความว่ารูปทรงของด้านปลายฐานกว้าง เป็นรูปวงรีปลายแหลมได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าภาชนะอ่อนตัวตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เมื่อเติมอากาศเข้าไป ถุงลมสามารถขยายตัวออกเป็นรูปทรงปริซึมสามเหลี่ยมปลายตัด รูปร่างของถุงลมตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 จึงแตกต่างจากถุงลมซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเพื่อการขนส่งด้วยตู้ขนส่งสินค้าตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
คำว่า ลิ้นเปิดปิดตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 หมายถึงระบบวาล์ว นั่นเอง และเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ใช้ถ้อยคำว่า "a valve device for controlling air into the air bag" ซึ่งหมายความว่า วาล์วเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุมปริมาณลมที่เข้าสู่ถุงลม ดังนั้น ลิ้นเปิดปิดกับวาล์วตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการใช้วาล์วกับถุงลมนี้เคยปรากฏอยู่ในภูมิหลังของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วาล์วที่ใช้เปิดและปิดที่ติดตั้งกับถุงลม (Inflation/Deflation Valve for a bag to be filled with air) ระบุว่ามีการเสนอว่าถุงที่ผลิตจากผ้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ดังนั้น จึงต้องใช้วาล์วเพื่อให้ปล่อยลมจากถุงได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่ทำให้ช่องที่เปิดในถุงฉีกขาด นอกจากนี้ การใช้วาล์วซึ่งทำให้ปล่อยลมได้อย่างรวดเร็วจะทำให้มีโอกาสเติมลมให้แก่ถุงลมก่อนใช้เพื่อทดสอบความแน่นของอากาศด้วย ภูมิหลังของการประดิษฐ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า วาล์วที่ใช้ง่าย ๆ เพื่อเติมลมอย่างรวดเร็วต้องมีก้านวาล์ว (valve stem) กับหัวเติมลม ซึ่งสามารถนำมาติดบนก้านได้เพื่อให้ผู้ใช้เติมลมแก่ถุงลม ในหลายกรณีหัวเติมลมหรือหัวฉีดมีระบบสำหรับติดกับก้านวาล์วเพื่อให้อยู่กับที่ในระหว่างเติมลมโดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถือเพื่อให้อยู่กับที่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นวิธีการสามัญที่ใช้กันทั่วไป ยิ่งกว่านั้นสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกายังเปิดเผยการใช้วาล์วที่ใช้เปิดปิดสำหรับการเติมอากาศเข้าไปในถุงลม ซึ่งมีส่วนประกอบคือกระบอกสวมสำหรับสอดเข้าไปในช่องที่เปิดในผนังของถุงวาล์วรวมทั้งส่วนประกอบวาล์ว และฝาสำหรับครอบกระบอกสวม อันเป็นการปรับปรุงวาล์วเพื่อใช้ควบคุมการเติมอากาศเข้าไปในถุงลมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,335,820 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ภาชนะและระบบจ่ายของแข็งที่ไหลได้ (Container and Dispenser System for Flowable Solids) มีข้อความระบุถึงการใช้วาล์วกับถุงลมว่า "การวางหัวฉีด อาจจัดให้มีระบบวาล์วต่าง ๆ หรือระบบที่เหมือนกันอยู่ภายในนั้นเพื่อช่วยในการเติมลม เพื่อการบำรุงรักษาถุงลม ในภาวะที่มีลม และเพื่อการปล่อยลม ระบบวาล์วแบบธรรมดาอาจนำมาใช้ได้" และสิทธิบัตรดังกล่าวยังเปิดเผยโดยอ้างถึงรูปที่ 3 ว่า การจัดวางถุงลม ประกอบด้วยถุงก๊าซที่พองได้ ถุงก๊าซ สามารถเติมลมโดยผ่านการจัดวางหัวฉีด ในรูปที่ 3 ถุงก๊าซ ถูกแสดงให้เห็นว่าอยู่ติดกับแหล่งที่มา ของอากาศที่ถูกบีบอัดเพื่อใช้การเติมลม จากภูมิหลังการประดิษฐ์ประกอบการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าวแสดงว่าการติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวและการติดตั้งวาล์วที่ถุงลมเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญที่จะดัดแปลงวาล์วให้เข้ากับถุงลมตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ การทำงานของท่ออ่อนตัวที่มีลิ้นเปิดปิดและมีวาล์วแบบเกลียวหมุนตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดการตกค้างของสินค้าที่อยู่ในคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ รวมทั้งตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 ก็มีการใช้ท่ออ่อนตัว (flexible inflation tube) อยู่ก่อนแล้ว การติดตั้งลิ้นเปิดปิดที่ท่ออ่อนตัวหรือติดตั้งวาล์วที่ถุงลมจึงเป็นเพียงการนำสิ่งต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน (aggregation) โดยไม่ได้มีผลในการช่วยแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในเรื่องการตกค้างของสินค้า การประกอบเข้าด้วยกันดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งที่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถคาดหมายได้ ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
สำหรับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องแถบอ่อนตัวซึ่งแต่ละอันที่ติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านข้างมีรูตลอดแนวและแต่ละรูของแถบอ่อนตัวแต่ละอันอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน และแถบอ่อนตัวซึ่งเป็นแบบทึบติดอยู่ตรงรอยต่อของผนังด้านหน้าของตัวภาชนะแต่ละด้านที่เชื่อมต่อกับผนังด้านบนและผนังด้านข้างนั้น จำเลยที่ 4 พบว่าเมื่อติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์เข้ากับตู้ขนส่งสินค้าแล้ว จะมีช่องว่างระหว่างผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์กับผนังตู้ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะด้านบน เนื่องจากเมื่อแขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์แล้ว ส่วนผนังด้านบนจะหย่อนลงมาหรือที่เรียกว่า "ตกท้องช้าง" และเกิดช่องว่างซึ่งทำให้ในระหว่างการบรรจุสินค้าโดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะมีแมลงหรือจิ้งจก รวมทั้งสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในช่องว่างดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงคิดประดิษฐ์แถบพลาสติกตรงรอยต่อระหว่างผนังด้านข้างและผนังด้านบนของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ หรือเรียกว่า แถบอ่อนตัว เพื่อนำมาปิดช่องว่างดังกล่าว จำเลยที่ 4 ประดิษฐ์แถบอ่อนตัวเป็น 2 แบบ คือ แถบอ่อนตัวแบบมีรู กับแบบไม่มีรู ซึ่งมีลักษณะการใช้งานต่างกัน แบบมีรูสามารถสอดแท่งเหล็กผ่านแถบอ่อนเข้ายังสายห่วงคล้องไปช่วยพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ไม่ให้มีรอยยับย่นและคงรูปทรงให้เรียบร้อย ส่วนแบบไม่มีรูจะปิดช่องว่างได้อย่างมิดชิด เหมาะสำหรับขนส่งสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเกี่ยวข้องกับอาหารที่เน้นไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนหรือแมลงเข้าไปในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับในกรณีลูกค้าที่ใช้ลำเลียงผลิตภัณฑ์ด้วยสายพาน อาจจะดูดอากาศในช่องว่างระหว่างผนังตู้ขนส่งสินค้ากับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้เกิดสุญญากาศ แถบอ่อนดังกล่าวยังช่วยให้คงสภาวะสุญญากาศที่ช่องว่างระหว่างผนังแต่ละด้านของตัวภาชนะบรรจุสินค้าได้ด้วย ในกรณีของแถบอ่อนตัวแบบมีรูนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพยุงให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้เช่นเดียวกับแถบกันกระเทือนตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,837,391 บี 2 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบกันกระเทือนสำหรับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้ขนสินค้าเทกอง (Suspension System for Bulk Material Cargo Container Liner) เปิดเผยถึงการใช้แถบกันกระเทือนกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับสินค้าเทกองว่า แถบกันกระเทือนดังกล่าวเป็นแถบคู่แนวตั้ง แถบติดตั้งอยู่คนละด้านที่ส่วนหัวมุมบนด้านหน้า ตรงกันข้ามกันที่ส่วนมุมบนด้านหน้าของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ แถบกันกระเทือนแต่ละอันประกอบด้วยรูวงแหวนจำนวน 5 รู จะยึดแกนเหล็ก (finger bars) ไว้ แกนเหล็กดังกล่าวติดตั้งอย่างคงที่อยู่ที่ส่วนผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้าแบบเทกอง และจะสอดผ่านรูวงแหวนทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์คงรูปอยู่ได้ การประดิษฐ์ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่จะดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวเข้ากับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,481,598 บี 1 ของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น แถบอ่อนตัวแบบมีรูตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นการดัดแปลงแถบกันกระเทือนดังกล่าวจึงเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนกรณีการใช้แถบอ่อนตัวแบบทึบนั้น ปรากฏจากสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนการเปิดเผยการประดิษฐ์ที่สมบูรณ์ว่า "...ปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบ 10 บี ให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากใช้ท่อดูดอากาศ (ไม่ได้แสดงแบบไว้) ดูดอากาศระหว่างช่องว่างรอบตู้ขนส่งสินค้าออกจนหมดแล้ว..." การใช้ท่อดูดอากาศดังกล่าวแสดงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าจำเลยที่ 2 ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศระหว่างผนังของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์และผนังของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของกรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสอง ที่ว่า นอกจากจะใช้วิธีการแขวนกับห่วงหรือตัวเกี่ยวภายในตู้ขนส่งสินค้าเหมือนกับการกางมุ้งแล้ว ยังนำความเป็นสุญญากาศมาใช้ กล่าวคือ ดูดอากาศที่มีอยู่ระหว่างผนังภายในของตู้ขนส่งสินค้ากับพื้นผิวภายนอกของบรรจุภัณฑ์ออกเสียให้หมด เมื่อบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีเนื้อที่อ่อนตัวและทึบ อากาศผ่านไม่ได้ จะถูกดูดติดกับผนังด้านในของตู้ขนส่งสินค้า อันเป็นปรากฏการณ์ของระบบสุญญากาศ ซึ่งเป็นที่รู้และใช้กันมานาน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองใช้ระบบนี้กับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ห่วงหรือขอเกี่ยว นอกจากนี้ ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,244,332 ซึ่งมีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า วิธีการขนสินค้าเทกองและอุปกรณ์ (Bulk Loading Method and Apparatus) อ้างถึงผนึกสุญญากาศ โดยการดูดอากาศภายในเทรลเลอร์หรือตู้ขนส่งสินค้าที่อยู่ระหว่างพลาสติกไลเนอร์กับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งตามรูปที่ 7 ของสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา ท่อดูดอากาศแนวตั้งคู่หนึ่ง ถูกสอดเข้าไปภายในผนังด้านข้างที่ท้ายของรถกึ่งเทรลเลอร์ใกล้ส่วนพับของประตู และสิทธิบัตรดังกล่าวยังอ้างถึงการปิดผนึกว่า เมื่อคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ เติมลมอย่างถูกต้องและปิดผนึกที่ประตูเทรลเลอร์แล้ว มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในสภาพที่มีลมเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าปราศจากอากาศและการดูดช่วย หลังจากบรรจุสินค้าเข้าในเทรลเลอร์แล้ว ปิดเครื่องเป่า และมัดวัสดุส่วนที่เกินของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ส่วนปลายของสินค้า และปิดผนึกเพื่อให้แน่ใจว่าจะป้องกันความชื้นในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ สินค้าทั้งหมด ตามรูปที่ 16 วิธีการทำให้เกิดสุญญากาศตลอดแนวผนังเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วเพื่อรักษารูปทรงของคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ในระหว่างการใช้งาน ดังนั้น การปิดแถบอ่อนตัวในแนวตั้งแบบทึบให้แนบกับผนังด้านข้างของตู้ขนส่งสินค้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากการใช้ท่อดูดอากาศตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยรักษาสภาวะสุญญากาศให้คงอยู่ การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ย่อมมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7
ส่วนข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องชุดขอแขวนที่ติดอยู่ที่ด้านนอกของผนังด้านบนของตัวภาชนะสำหรับบรรจุสินค้า ซึ่งประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมทะลุ แถบยางยืดหยุ่นที่สอดเข้ากับรูกลมทะลุของแผ่นรับแรงและขอแขวนเพื่อยึดผนังด้านบนของภาชนะอ่อนตัวสำหรับบรรจุสินค้าประเภทผงหรือเม็ดเข้ากับตู้ขนส่งสินค้านั้น จำเลยที่ 4 พบว่าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ที่ใช้อยู่ทั่วไปมีขอแขวนประกอบด้วยแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสองรู หรือบางรายใช้เทปกาวติดระหว่างแผ่นรับแรงกับผนังคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ทำให้หลุดร่อนและส่งผลทำให้คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ฉีกขาดและเสียหาย จำเลยที่ 4 จึงคิดประดิษฐ์ชุดขอแขวนที่มีแถบยางยืดหยุ่นอยู่ด้านบนของตัวคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ให้แข็งแรงกว่าที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น โดยให้มีแผ่นรับแรงที่มีรูกลมจำนวนสี่รู ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตทั่วไป และการที่ชุดขอแขวนที่มีแผ่นรองรับสี่รูสามารถรับน้ำหนักและพยุงคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ได้ดีกว่า และมีการใช้ชุดขอแขวนชนิดสองรูกับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์มาก่อน แต่มีความแข็งแรงไม่เท่ากับชุดขอแขวนแบบสี่รู ชุดขอแขวนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับคอนเทนเนอร์ไลเนอร์โดยทั่วไป ชุดขอแขวนจำเป็นต้องใช้ในการติดตั้งคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทุกกรณี คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ของโจทก์ทั้งสองและของผู้ผลิตรายอื่นมีชุดขอแขวนเช่นกัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,489,037 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ระบบคอนเทนเนอร์ไลเนอร์สำหรับการย้ายสินค้าเทกอง (Container Liner System for Bulk Tranfer) แล้ว สิทธิบัตรดังกล่าวเปิดเผยแถบแขวนซึ่งใช้แขวนคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ทางด้านบน ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว ปลายของผนังด้านหลัง ใส่เข้ากับแถบแขวน และทำนองเดียวกับปลายของผนังด้านหน้า ใส่เข้ากับเครื่องแขวน ซึ่งรวมทั้งแผ่นตะปู และแถบแขวน นอกจากนี้ ยังมีสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,533,137 บี 2 ซึ่งมีชื่อแสดงถึงการประดิษฐ์ว่า คอนเทนเนอร์สำหรับการเก็บและการส่งสินค้าเทกอง (Container for Storing and Handing Bulk Material) ตามรูปที่ 3 ของสิทธิบัตรดังกล่าว แถบยืดได้ที่มีห่วง เชื่อมต่อกับเครื่องยึด (anchors หรือ anchoring means) โดยใช้เครื่องมือที่สะดวกสบาย เช่น การรวมกันของขอสับและขอเกี่ยว ซึ่งเครื่องยึดดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นกลมสำหรับรับน้ำหนัก ดังนั้น การดัดแปลงในลักษณะต่าง ๆ เช่น เพิ่มจำนวนรูที่แผ่นรับแรง หรือการทำให้ชุดขอแขวนรับน้ำหนักได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ไม่ถือว่าการประดิษฐ์ส่วนนี้มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 20818 ของจำเลยที่ 2 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7