คำพิพากษาย่อสั้น
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) ในเดือนภาษีสิงหาคม 2540 กันยายน 2540 ตุลาคม 2540 พฤศจิกายน 2540 มกราคม 2541 และมีนาคม 2541 ตามลำดับ มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินเดือนภาษีละ 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
กำหนดเวลาที่ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาให้โจทก์ได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร เป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินเพื่อจัดให้มีหนังสือแจ้งการประเมิน ดังนั้น การออกหมายเรียกจึงมิใช่เป็นการออกคำสั่งทางปกครอง
หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองจะต้องทำเป็นหนังสือและจะต้องแสดงเหตุผลหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วย และเหตุผลที่ต้องแสดงนั้นอาจมีหลายกรณีแตกต่างกันไป การที่ผู้ออกหนังสือแจ้งการประเมินกับผู้ออกใบแนบรายการประเมินอ้างเหตุผลต่างกันนั้น ถือเป็นการจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถ้อยคำและนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องไปแสดงตามประเด็นการตรวจสอบหลายครั้ง เจ้าพนักงานประเมินบันทึกคำให้การและให้โจทก์ทราบผลการตรวจสอบแต่ละขั้นตอน โจทก์โต้แย้งคัดค้านหลายประเด็น ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ให้โจทก์รับทราบผลการตรวจสอบและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยโต้แย้งข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินได้ชัดแจ้งแล้ว ถือว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก
แม้บทบัญญัติของ ป.รัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายทางการค้าทั่วไปแล้ว คงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับมาตรา 91/1 (3) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะที่กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ราคาตลาดของสินค้าในแต่ละช่วงเวลาย่อมอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้านั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อเป็นราคาตลาดในวันที่โอน เป็นการประเมินที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 91/16 (6) แล้ว
โจทก์ให้บริษัท พ. กู้ยืมเงินโดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยตามราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) ประเมินดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยอัตราถัวเฉลี่ยรายไตรมาส การแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิในส่วนนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย
ผู้เสียภาษีที่ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณภาษีนั้น จะต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และนำรายจ่ายที่มีหน้าที่ต้องจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีไปรวมเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและเงินได้สุทธิสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ คำสั่งดังกล่าวข้อ 5 (6) กำหนดว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดจากสัญญากู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการจัดสรรที่ดินหรือพัฒนาที่ดินเพื่อขายแต่ละโครงการเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระก่อนที่โครงการนั้นพร้อมที่จะขาย แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามข้อ 4 วรรคสอง ให้ถือเป็นมูลค่าต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์หน่วยหรือแปลงที่ขายในแต่ละโครงการ... ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่โครงการนั้นพร้อมจะขาย ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถึงกำหนดชำระได้ทั้งจำนวน แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับกรณีที่มีการขายโครงการทิ้งทั้งโครงการโดยที่ยังสร้างไม่เสร็จว่าดอกเบี้ยจ่ายที่นำไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์จะถูกนำไปใช้อย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องการจับคู่ของรายได้และรายจ่ายกับวัตถุประสงค์ของมาตรการยกเว้นเกณฑ์สิทธิดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจากการขายโครงการทั้งโครงการโดยที่ยังสร้างไม่เสร็จ ดอกเบี้ยจ่ายที่รวมเป็นต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ของโครงการดังกล่าวย่อมถูกนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายโครงการดังกล่าวเนื่องจากมีรายได้ที่จะนำรายจ่ายไปจับคู่แล้วและการจับคู่ผิดจะไม่เกิดขึ้น ทางพิจารณาไม่มีพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าโครงการที่โจทก์อ้างว่าขายไปนั้นได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันใด ลำพังเพียงการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 24 นั้น ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์ได้ขายโครงการทั้งสองดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
ค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 457 บัญญัติให้ผู้ซื้อและผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียม เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้โจทก์ จึงไม่เป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่จำต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้