คำพิพากษาย่อสั้น
กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ 2 ทาง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่เมื่อเลือกใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่สามารถใช้สิทธิ 2 ทาง พร้อมกันได้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ได้มีคำสั่งภายในระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเช่นเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2548 พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องโดยไม่ได้มีคำสั่ง เป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานยังไม่มีคำสั่ง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในบังคับต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง การที่พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องทำให้กระบวนพิจารณาในชั้นพนักงานตรวจแรงงานยกเลิกไปทั้งหมด โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับเรียกร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องศาลแรงงานภาค 6 เปิดทำการแล้วแต่ยังไม่มีผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 6 จึงโอนคดีไปยังศาลแรงงานกลาง หลังจากศาลแรงงานกลางเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 6 มีผู้พิพากษาสมทบพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลแรงงานภาค 6 จึงขอให้ศาลแรงงานกลางโอนคดีกลับมาพิจารณาพิพากษา เมื่อโอนคดีกลับมาแล้วผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางย่อมหมดอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แม้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) มาตรา 236 บัญญัติว่าผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นการที่ ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบของศาลแรงงานภาค 6 ไม่เคยนั่งพิจารณาคดีนี้ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 16 ย่อมมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติการแทนได้ตามมาตรา 20 ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบองค์คณะในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้ ส่วน น. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งนั่งพิจารณาคดีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นก็ได้รับคำสั่งให้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแห่นงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลางอีกตำแหน่งหนึ่งก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี น. จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้