คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6826/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ต.ค. 2558 18:45:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ฉบับ ฉบับแรก สัญญาว่าจ้างและอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบลูกค้าสัมพันธ์ ให้ผู้ว่าจ้างนำไปใช้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับที่สอง สัญญาบริการดูแลระบบโทรศัพท์ทางไกลของผู้ว่าจ้างในประเทศไทย ปัญหาว่ารายรับจากการให้บริการของโจทก์ทั้งสองสัญญาจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 หรือร้อยละ 0 นั้น ป.รัษฎากร มาตรา 80/1 "ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามประเภทหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด" และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น ข้อ 2 "กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร (1) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประกาศทั้งหมด" สัญญาบริการมีลักษณะเป็นสัญญาดูแลระบบโทรศัพท์ทางไกลที่จะต้องมีการเชื่อมมายังผู้รับปลายทางที่ประเทศไทย ส่วนสัญญาว่าจ้างและอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้าสามารถติดต่อโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศได้เองโดยอัตโนมัติ หรือที่โจทก์เรียกว่าระบบลูกค้าสัมพันธ์ โดยลูกค้าสามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะ หรือโทรศัพท์ส่วนตัวโทรเข้ามาที่ระบบลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทดังกล่าว โปรแกรมที่โจทก์อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีความเกี่ยวข้องกับสัญญาบริการที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว ประกอบกับบริษัทดังกล่าวจ่ายค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างและอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์รวมกับค่าบริการตามสัญญาบริการในการดูแลระบบโทรศัพท์ทางไกลที่ประเทศไทย ผู้ว่าจ้างมีเจตนาว่าจ้างโจทก์จัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์พร้อมกับติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเชื่อมต่อกับระบบของผู้ว่าจ้างที่อยู่ต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตระหว่างบริษัทผู้ว่าจ้างไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เป็นผลให้มีการใช้บริการในประเทศไทย กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาว่าจ้างและอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นการให้บริการในราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 การที่จำเลยนำรายรับของโจทก์ทั้งสองสัญญามารวมกันแล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นจึงชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1

ผู้พิพากษา

เมทินี ชโลธร
กรองเกียรติ คมสัน
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android