คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2559 11:44:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ 4 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์นั้นไปในทางการที่ใช้หรือจ้างวานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อ ว. ผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อันเป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทั้งห้าทราบ โดยเห็นว่าข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าคือในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งความผิดของจำเลยที่ 4 จะมีประการใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุน โดยจะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย เมื่อผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด และเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 กำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำเงื่อนไขดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยอันเป็นไปตามเงื่อนไขแล้วก็เพื่อวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
กรมธรรม์ประกันภัยเป็นแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่และข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ยืมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปใช้ จำเลยที่ 1 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ม. ภริยาจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมรถที่พยานยืมจากบิดาเพื่อนำบุตรของจำเลยที่ 1 ไปรักษาที่คลินิก ศ. พยานจำเลยที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขอยืมรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 ไปใช้ก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 อีก ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติขับรถคันเกิดเหตุได้ ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 ระบุว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าว
จำเลยที่ 4 วางเงินที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อชำระแก่ทายาทผู้ตายโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งห้าหรือญาติผู้ตายจะรับเงินได้ก็ต่อเมื่อคดีแพ่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยที่ 4 กำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าว ดังนั้น การวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ชำระเงินนั้นให้โจทก์ทั้งห้าแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ศาลจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมถึงค่าทนายความให้แก่โจทก์ทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 4 อย่างมากแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

ผู้พิพากษา

เมทินี ชโลธร
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android