คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21294/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 ก.ย. 2559 10:14:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ร้องและผู้บริหารของผู้ร้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส - เบนซ์ เป็นอย่างดี ก่อนที่ผู้ร้องลงนามทำสัญญาการจัดจำหน่ายกับผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องมีโอกาสพิจารณาข้อสัญญาต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและย่อมรู้ว่ามีข้อสัญญาใดบ้างที่เอารัดเอาเปรียบผู้ร้องหรือทำให้ผู้ร้องต้องรับภาระเกินกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ทั้งย่อมตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการถูกบอกเลิกสัญญา รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาการจัดจำหน่าย จึงได้มีการลงนามทำสัญญากับผู้คัดค้าน และเมื่อพิจารณามาตรา 4 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติว่า "ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง" แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านแต่อย่างใด สัญญาข้อ 14 (1) ก็ให้สิทธิแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 386 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง" ถือได้ว่าผู้ร้องมีเสรีภาพและสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ข้อสัญญาข้อ 14 (1) ในสัญญาการจัดจำหน่ายไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้ผู้ร้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบผู้ร้อง จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386

ผู้พิพากษา

กฤษฎิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์
พิศล พิรุณ
เสรี เพศประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android