คำพิพากษาย่อสั้น
หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก
บันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า "ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร" ซึ่ง ฉ. ย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ฉ. ในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของ ฉ. ทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว ฉ. จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและ ก. ได้
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า "เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม" ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุตึกแถวดังกล่าวไม่มีคนอยู่อาศัย แต่โดยสภาพแล้วตึกแถวดังกล่าวเป็นที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเคหสถาน การที่จำเลยกับพวกเข้าไปในตึกแถวโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วเอาทรัพย์ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงออกไปจากตึกแถวดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน