คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 มิ.ย. 2558 09:49:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่ น. ซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับที่หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ นอกจากนี้จำเลยซ่อมรถยนต์ได้เพียงประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และเมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387

ผู้พิพากษา

สิทธิชัย โชคสวัสดิ์ไพศาล
สุนทร ทรงฤกษ์
สุรทิน สาเรือง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android