คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15106/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 ก.ย. 2558 14:46:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ การที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำร้องแสดงเหตุเพียงว่า จำเลยมีทางแพ้คดีซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน แต่การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมนั้น หาได้ทำให้โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ และแม้การกระทำดังกล่าวอาจทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้กล่าวในคำร้องว่า จำเลยและจำเลยร่วมสมคบกันโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท อีกทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นให้เรียกบุคคลภายนอกคดีเข้ามาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่อาจแปลความว่าคำร้องของโจทก์ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
แม้ระหว่างพิจารณาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมไปแล้ว แต่สภาพแห่งหนี้อาจไม่เปิดช่องให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงต้องกำหนดในคำพิพากษาไว้ด้วยว่า หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็ให้จำเลยคืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องเพราะโจทก์มีคำขอบังคับในส่วนนี้มาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ทั้งที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับมาท้ายฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

วิวรรต นิ่มละมัย
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android