คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2559 11:36:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กระบวนการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเป็นกระบวนการทางเลือก หากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเลือกที่จะใช้สิทธิยื่นขอให้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ แล้ว ย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่ตนเลือกใช้สิทธิและไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดและนำคดีขึ้นสู่ศาลตามมาตรา 72 และ 74 และไม่อาจนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้อีก เพราะหากนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องร้องได้อีกก็จะมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการพิสูจน์สิทธิในเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อน
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์โจทก์ที่ 1 แสดงว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 อาจเป็นการประดิษฐ์ที่มีข้อถือสิทธิและรูปลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ที่เหมือนกันหรือคล้ายกันที่อาจทำให้แต่ละฝ่ายเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากอีกบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยตรง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ฉ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 1 ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบพิสูจน์การประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรว่ามีลักษณะตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ตามที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเลือกให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงจะนำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 และ 74 เมื่อปรากฏว่าในขณะยื่นฟ้องยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งผลการตรวจสอบของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้โจทก์ที่ 1 ทราบ และโจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ที่จะนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ได้อีก โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏรายละเอียดพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่โดยตรง และเป็นการโต้แย้งสิทธิในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 อ้างในคำฟ้อง หากจะฟังว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็ย่อมไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ที่ 2 จะอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 เนื่องจากขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ และกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 ถูกยึดและขัดขวางการจำหน่าย ผลิตซึ่งเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 2 มาด้วยก็ตาม หากเป็นจริงก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะบุคคลใด ๆ ที่จะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ขึ้นอ้างในกรณีที่จะถูกบังคับใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คำฟ้องของบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 65 นว วรรคสอง แต่เป็นการที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสำคัญ โดยอ้างเหตุการจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 เบญจ
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 สัตต
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 72
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 74

ผู้พิพากษา

ไมตรี ศรีอรุณ
อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android