คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14670/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 มิ.ย. 2558 08:27:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีจึงเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามมาตรา 45 วรรคท้าย การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบเช่นกัน การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณา กรณีจึงต้องยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของผู้ร้อง แต่การที่สำนวนคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ นั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45 (1) ถึง (5) การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์อ้างข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาอยู่กินโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ ป. และ ป. ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุให้ผู้ร้องขอสินเชื่อเช่าซื้อและทำประกันภัย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยนั้น ล้วนเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243

ผู้พิพากษา

นพพร โพธิรังสิยากร
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
สุทธิโชค เทพไตรรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android