คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขอจดทะเบียนและการคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าไว้เป็นลำดับ ตั้งแต่หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1 การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำขอต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอรายนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็จะรับจดทะเบียนให้และลงประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น ตามมาตรา 29 อันเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิจารณาคำขอของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการคัดค้านคำขอที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนไว้เป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณา ตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นขั้นตอนในลำดับถัดไปที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 2 การรับจดทะเบียนและผลแห่งการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือมีผู้คัดค้าน แต่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนตามมาตรา 40 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็จะมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หลังจากนั้นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนแล้วดังกล่าว อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 3 และอาจมีการต่ออายุและอาจถูกเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการพิจารณาคำขอเครื่องหมายการค้าของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้ร้องที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 (4) ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าคนละขั้นตอนโดยอาศัยอำนาจตามบทมาตราของกฎหมายแตกต่างกัน แม้ผู้ร้องไม่เคยคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ตามมาตรา 35 ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้
เมื่อพิจารณาการยื่นคำขอใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตั้งแต่ต้น และหลังจากนั้นโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของโจทก์เรื่อยมาตั้งแต่ ปี 2547 โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหรือมีความเห็นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าต้องห้ามจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายแต่ประการใด ทั้งหลังจากโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลานานเกินกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2552 จนเป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่ปรากฏว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์สร้างความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับสินค้าของผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริตโดยสาธารณชนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องหรือของบุคคลอื่นได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของผู้ร้องจะใช้อักษรโรมันและมีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกัน กับได้จดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 61 (4)