คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.พ. 2558 10:04:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งโจทก์ให้การปฏิเสธ เมื่อคดีถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดต่อผู้เสียหายและโจทก์วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์วางเงินดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตาม มาตรา 8 วรรคสี่ ที่มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสามผู้ทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามแต่ละคนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
  • พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9

ผู้พิพากษา

พิศล พิรุณ
กฤษฎิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์
เสรี เพศประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android