คำพิพากษาย่อสั้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว แต่จำเลยได้ขอแก้ไขคำให้การก่อนสืบพยานจำเลยเป็นให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้ว เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 222 ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมว่า ในวันดังกล่าวโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง ส่วนข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ ตามคำให้การจำเลยที่ศาลบันทึกไว้ การให้การรับสารภาพของจำเลยในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง เป็นการให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและเป็นการร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยก่อนศาลพิพากษา เมื่อความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อนหากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้โดยระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยให้การปฏิเสธและโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น เป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นที่บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2504 เท่านั้น ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 แห่ง ป.อ. ดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" มิใช่การละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร แต่เป็นกรณีที่จำเลยคิดเครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" ขึ้นเอง มิใช่การปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 โจทก์ร่วมมิได้นำสินค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย จำเลยมิได้มีเจตนาปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้ห้ามผู้จำหน่ายสินค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่เรื่องแปลกดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยนั้น อุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในข้อหานี้ 5,000 บาท และไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งรับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39