คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ม.ค. 2558 10:23:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดลักษณะผู้กระทำความผิดต้องเป็น "ผู้ไม่มีสัญชาติไทย" เป็น "ผู้ใด" มีผลให้ผู้กระทำความผิดจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ และในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีผลให้จำเลยไม่ต้องรับโทษในฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนี้ เพราะจำเลยมิใช่ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 14 ที่แก้ไข
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกับ ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) แต่กลับระบุถึงสัญชาติจำเลยว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันผิดไปจากลักษณะของบุคคลที่จะเป็นตัวการกระทำความผิดตามบทมาตรานี้เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องเช่นนี้ ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องนี้เป็นตัวการร่วมกับนาย ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยกระทำความผิด แต่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
ยงยุทธ สุเรนทร์รังสิกุล
ชัยยันต์ ศุขโชติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android