คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 14 พ.ค. 2557 14:16:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ย.636/2544 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรียึดที่ดิน 4 แปลง ที่จังหวัดชลบุรี ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาด ศาลอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดิน มีการประกาศกำหนดวันขายทอดตลาด 3 ครั้ง ตามประกาศขายทอดตลาดโดยยึดถือประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการขายทอดตลาดครั้งแรกกำหนดราคาเริ่มต้นร้อยละ 80 ของราคาประเมิน ขายแยกแปลง กำหนดไว้แปลงละ 440,000 บาท มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์และ ส. เข้าร่วมประมูลสู้ราคา ส. ให้ราคาสูงสุดแปลงละ 2,500,000 บาท ผู้แทนจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว คัดค้านอ้างว่าราคาต่ำไป จึงงดการขาย ครั้งที่สองกำหนดราคาแปลงละ 2,500,000 บาท ไม่มีผู้ใดเข้าสู้ราคาจึงงดการขาย ก่อนกำหนดขายทอดตลาดครั้งที่สามมีประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการขายทอดตลาดครั้งที่สามเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาเริ่มต้นร้อยละ 50 ของราคาประเมิน มีผู้แทนโจทก์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวเสนอราคาแปลงละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาด หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือให้โจทก์ดำเนินการรับโอนที่ดินทั้งสี่แปลง ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ยื่นคำขอรับเงินค่าซื้อที่ดินคืนและขอค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้คืนเงินที่ซื้อแก่โจทก์ แต่ยกคำร้องในส่วนค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้รับคืนเงินค่าซื้อที่ดินแล้ว
ฎีกาโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เพียงใด เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปตามประกาศของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนโยบายการขายทอดตลาดทั้ง 2 ฉบับ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงเคาะไม้ให้โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้เมื่อโจทก์วางเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ หากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้ โจทก์ก็สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินและขอรับเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว เมื่อลูกหนี้เดิมซึ่งถูกยึดทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยวินิจฉัยว่า ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการตีความประกาศของกรมบังคับคดีจนเป็นผลเสียแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่อย่างใด หลังจากโจทก์ประมูลซื้อทรัพย์สินได้ วันดังกล่าวโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี มีเงื่อนไขให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งในข้อ 5 ของสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าหากศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีนี้ได้ชี้ขาดลงต่อมาภายหลังว่าที่ดินนั้นไม่ใช่ของจำเลยหรือเพราะเหตุอื่น ๆ ก็ดี อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ สัญญาซื้อขายนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินที่ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) ได้ชำระไว้ ข้าพเจ้า (ผู้ซื้อ) จะไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด อันมีผลให้โจทก์ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน 4 แปลงนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อีก ทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์จัดทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแบบพิมพ์ที่ผู้ซื้อทุกรายจะต้องทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช่ลูกหนี้ของโจทก์ ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถวางข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยและค่าเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นไว้ในหนังสือสัญญาซื้อขายนี้ได้ กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 ตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด หนังสือสัญญาซื้อขายจึงไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องแก่โจทก์ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการโอนได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373

ผู้พิพากษา

วิจิตร วิสุชาติ
พินิจ สายสอาด
สุรศักดิ์ วิมลรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android