คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ธ.ค. 2557 10:26:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ผู้พิพากษา

อาวุธ ปั้นปรีชา
วิรุฬห์ แสงเทียน
ปดารณี ลัดพลี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android