คำพิพากษาย่อสั้น
การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น
ผู้ร้องทำการสอบสวนเจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลาง กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน
นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้แก่ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามข้อตกลงข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 และการที่จำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้แก่เด็กชาย ช. และเด็กหญิง บ. บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารเดิมให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หา จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้คัดค้านที่ 1 กับบุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อบุตรทั้งสอง เป็นการกระทำในช่วงเวลาที่ตนอาจรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 40 จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123
แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงถือว่ารับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113