คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16694/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 พ.ย. 2559 09:48:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละภาคการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยโจทก์เพิ่งแจ้งให้ทราบภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาแล้วถึง 3 ปี ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบโดยจำยอมต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นผลต่อการสำเร็จการศึกษา ทั้งสัญญาผูกพันการเข้าปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาสำเร็จรูป โดยมีการพิมพ์ข้อความกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า และข้อความในสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยโจทก์ โดยไปปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์จัดการ หรือกำหนดให้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยหรือในโรงพยาบาลอื่นเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญายินยอมชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน โดยต้องปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นผู้กำหนดหรือจัดหาให้เท่านั้น ซึ่งแม้มีกำหนดเวลาเพียง 3 ปี และมีค่าตอบแทนให้ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกได้เอง จึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5

ผู้พิพากษา

ทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์
สุนันท์ ชัยชูสอน
สถิตย์ ทาวุฒิ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android