คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15230/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 4 ก.พ. 2558 13:06:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2536 ถึงปลายปี 2542 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวร่วมกันปลอมใบรับเงินกู้ยืมและปลอมใบถอนเงินฝากของผู้เสียหายและยักยอกเงินของผู้เสียหาย ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 54/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายและในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอาศัยโอกาสในการที่ตนเป็นพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและพนักงานบัญชีปลอมใบรับเงินกู้ของผู้เสียหาย ยักยอกปุ๋ยของผู้เสียหาย ยักยอกข้าวเปลือกของผู้เสียหาย ยักยอกน้ำมันดีเซลของผู้เสียหาย และยักยอกเงินของผู้เสียหาย แม้วันเวลาเกิดเหตุของคดีทั้งสองจะคาบเกี่ยวกัน มูลคดีอย่างเดียวกัน และผู้เสียหายทั้งสองคดีเป็นคนเดียวกันก็ตาม แต่เอกสารสิทธิและทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมและยักยอกเป็นเอกสารสิทธิคนละฉบับกัน ทรัพย์คนละประเภทกัน และเงินคนละจำนวนกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าวโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงมิใช่เป็นฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 54/2548 ของศาลชั้นต้น อันต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คดีดังกล่าวและคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารสิทธิ และยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้เสียหายรายเดียวกัน เพียงแต่กระทำความผิดต่างวันเวลากัน เอกสารสิทธิที่ปลอมคนละฉบับ ทรัพย์ที่ยักยอกเป็นคนละประเภท และเงินที่ยักยอกคนละจำนวนเท่านั้น ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับการกระทำความผิดคดีนี้ และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีเดียวกันได้ และอาจพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ คดีทั้งสองคดีจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปี ไม่ได้และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ผู้พิพากษา

มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร
สุรพันธุ์ ละอองมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android