คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16358/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มี.ค. 2557 15:52:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำนอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และที่สำคัญต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า "แทงโก้" และอักษรโรมันคำว่า "Tango" แต่คำว่า "Tango" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับคำว่า "TANGO", "TANGO THINS", "TANGO MAXCRUNCH" และ "TANGO SAPPHIRE" ของ จ. และคำว่า "TANGO" เป็นคำนำหน้าในเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ซึ่งเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าประเภทลูกอม ขนมหวาน และช็อกโกแลตจะจดจำในการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวคำว่า "THINS" คำว่า "MAXCRUNCH" และคำว่า "SAPPHIRE" ที่ต่อท้ายคำว่า "TANGO" มิใช่สาระสำคัญหรือส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าที่ผู้บริโภคจะจดจำเพื่อแยกแยะความแตกต่างในการเลือกซื้อสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของ จ.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android