คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 ก.พ. 2557 11:34:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

ผู้พิพากษา

สมยศ เข็มทอง
ไชยยงค์ คงจันทร์
เมทินี ชโลธร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android