คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 มี.ค. 2557 15:09:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
รูปเครื่องหมายการค้า "" ตามคำขอของโจทก์ กับรูปเครื่องหมายการค้า "" ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วต่างประกอบด้วยภาพหมีที่วาดเป็นลายเส้นลักษณะภาพการ์ตูนในท่านั่งหน้าตรง ขาหน้าและขาหลังกางออกทำนองเดียวกัน มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างเพียงรายละเอียด โดยภาพหมีในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนที่เป็นตา จมูกและปาก ส่วนภาพหมีในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว มีรายละเอียดในส่วนตา จมูกและปาก กับรายละเอียดในส่วนหู ในส่วนลายเส้นประที่ข้อเท้าทั้งสี่เท้า ทำให้เป็นลักษณะหมีที่ใส่เสื้อผ้า และมีเลขอาระบิก "86" อยู่ที่บริเวณกลางลำตัวด้านหน้า กับมีข้อความว่า "THE BEARS PROJECT" อยู่ด้านล่างภาพหมี แต่โดยภาพรวมต่างมีสาระสำคัญอยู่ที่ภาพหมีที่เป็นลายเส้นรอบรูปในท่านั่งหน้าตรงกางขาทั้งสี่ออกด้วยกัน โดยเป็นส่วนประกอบของภาพที่มีลักษณะเด่นกว่ารายละเอียดประกอบต่าง ๆ ในภาพหมีและตัวเลขกับข้อความดังกล่าว ทั้งจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นสินค้าในจำพวกที่ 25 และรายการสินค้าทำนองเดียวกัน โดยล้วนเป็นสินค้าที่สาธารณชนผู้บริโภคทั่วไปซื้อใช้ ไม่ใช่สินค้าเฉพาะกลุ่มผู้มีความรู้เฉพาะทาง จึงมีเหตุอันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ถือได้ว่าไม่มีลักษณะอันพึงได้รับการจดทะเบียน
การใช้เครื่องหมายการค้าอันจะถือว่าต่างเจ้าของต่างได้ใช้กันมาแล้วโดยสุจริตที่จะถือว่าเป็นเหตุให้ควรรับจดทะเบียนได้ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริตโดยมีการขายหรือโฆษณาสินค้าภายในดินแดนประเทศไทย ตามหลักการที่กฎหมายย่อมใช้บังคับเฉพาะในเขตดินแดนแห่งรัฐที่ออกกฎหมายเท่านั้น แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนโดยสุจริตในประเทศไทยซึ่งถือไม่ได้ว่าโจทก์กับผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริต และไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นที่รู้จักกันในประเทศไทย ดังนี้ แม้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าในต่างประเทศมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่โจทก์เพิ่งคิดจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้หรือขอรับการคุ้มครองโดยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทย ภายหลังจากที่ผู้อื่นได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว หากรับจดทะเบียนให้แก่โจทก์ นอกจากจะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน ยังเป็นเหตุทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในการซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเช่นนี้ได้ และไม่มีเหตุผลอันสมควรอื่นใดถึงขนาดให้ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษเพื่อให้มีผลยกเว้นต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 27 ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android