คำพิพากษาย่อสั้น
ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาปรับแก่คดีแล้วเห็นว่าไม่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนเฉพาะกิจการของโจทก์สาขาย่อยนวนครหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า "...กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ส. ผู้จัดการสาขาย่อยนวนคร ซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้เป็นตัวแทนของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะกระทำแทนธนาคารในกิจการของสาขาที่กล่าวข้างต้น... รวมทั้งให้มีอำนาจ ดังนี้ 6. ...ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง ...เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ ของธนาคาร..." ย่อมหมายความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ในฐานะผู้จัดการสาขาย่อยนวนครดำเนินคดีแทนโจทก์ในกิจการของสาขาย่อยนวนครของโจทก์เท่านั้น ส. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของโจทก์สาขาอื่น ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะหนี้เงินกู้ที่โอนจากสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังสาขาย่อยนวนคร
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์แล้วโจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามจำนวนที่คิดคำนวณเอง โดยโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
แม้ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองจะมิใช่ผู้รับจำนองและไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับจำนอง แต่โจทก์ผู้รับจำนองยอมรับเอาการกระทำของผู้บอกกล่าวบังคับจำนองที่ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง