คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4229/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ธ.ค. 2559 16:14:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ป.รัษฎากร มาตรา19 ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับลำดับขั้นตอนของการดำเนินการเป็นลำดับไป ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยออกหมายเรียกให้ธนาคารพาณิชย์ส่งหลักฐานบัญชีเงินฝากของโจทก์ก่อนออกหมายเรียกโจทก์เพื่อประมวลผลว่ามีเหตุสมควรที่จะออกหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบหรือไม่ มิใช่เป็นการทำผิดลำดับขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 ย่อมเป็นหมายเรียกที่ชอบแล้ว และมาตรา 19 ไม่ได้บัญญัติว่า หมายเรียกให้ใช้ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ดังนั้น แม้หมายเรียกเป็นแบบพิมพ์ของกรมสรรพากรซึ่งแตกต่างกันกับแบบพิมพ์ที่โจทก์อ้างก็ไม่ทำให้หมายเรียกที่ออกชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องเสียไป
ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41 มีหลักการว่า คำสั่งทางปกครองที่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ถ้าได้มีการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลัง จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ตามส่วนที่ 5 ของหมวดนี้หรือตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง โดยส่งหนังสือขอเพิ่มเติมเหตุผลในการประเมินก่อนคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือและส่งไปยังผู้อุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 34 อันเป็นกฎหมายเฉพาะ ทั้งยังให้โอกาสโจทก์อุทธรณ์เพิ่มเติมได้อีกด้วย เมื่อพิเคราะห์หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) ทั้ง 9 ฉบับ มีรายการจำนวนเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท ค่าลดหย่อนของคณะบุคคล เงินได้หลังหักค่าลดหย่อน เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระยังขาดไป เบี้ยปรับตามมาตรา 22 หรือ 26 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร คำนวณถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ระบุเหตุผลที่ประเมินว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ข้อมูลรับรองงบการเงินและรายการยอดนำฝากบัญชีธนาคาร ปรากฏว่าคณะบุคคล ด. ไม่ได้นำเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสอบบัญชีตามมาตรา 40 (6) และเงินได้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด จึงถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) จากนั้นระบุจำนวนเงิน จึงประเมินให้คณะบุคคลต้องรับผิดชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเพิ่มเติม ส่วนหนังสือเรื่องขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมิน มีรายละเอียดจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของคณะบุคคล ด. หักด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก คงเหลือยอดเงินฝากบัญชี จากนั้นเป็นการแจ้งรายการตรวจสอบจากหลักฐานหน่วยราชการ พยานบุคคลและพยานหลักฐานอื่น ตลอดจนหลักฐานที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการคณะบุคคล ด. ชี้แจงเงินได้พึงประเมินเปรียบเทียบกับจำนวนเงินฝาก ข้อมูลหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ข้อมูลรับรองงบการเงินของกรมสรรพากรที่นำมาคำนวณเพื่อประเมินภาษีในแต่ละรายการให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) และใบแนบหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง แล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 19
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 34
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41

ผู้พิพากษา

ชาลี ทัพภวิมล
องอาจ โรจนสุพจน์
ทองหล่อ โฉมงาม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android