คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 พ.ย. 2556 10:59:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และฐานเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์เก๋งของกลาง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งห้าใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวบรรทุกบุหรี่ของกลาง เมื่อคดีนี้มิได้สืบพยานโจทก์จำเลยจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้ใช้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวซุกซ่อนขนย้ายบุหรี่ของกลางไปในลักษณะอย่างไร ทั้งรถยนต์โดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถยนต์เก๋งของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งห้าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถยนต์เก๋งของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดมาตราดังกล่าว มิใช่มาตรา 27 ซึ่งมาตรา 27 ทวิ เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2499 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 ส่วน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า "เรือชนิดใดๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบห่อ หรือภาชนะใดๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้นหรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียทั้งสิ้น" ย่อมเป็นบทบัญญัติที่เป็นการระบุให้ริบทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรซึ่งใช้ในขณะนั้น ซึ่งมิได้รวมถึงความผิดตามมาตรา 27 ทวิด้วยแต่อย่างใด รถยนต์เก๋งของกลางในคดีนี้จึงจะริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ไม่ได้เช่นกัน
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
  • พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108
  • พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 24
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32

ผู้พิพากษา

ไมตรี ศรีอรุณ
อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android