คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายพิเศษที่มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมดูแลการขุดเจาะน้ำบาดาลและการระบายน้ำลงบ่อบาดาล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันรักษาแหล่งน้ำบาดาลซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ขาดแคลนหรือเสียหาย อีกทั้งป้องกันการทรุดตัวของแผ่นดินและการก่อให้เกิดมลพิษแก่น้ำบาดาลอันเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้ขณะที่จำเลยขุดเจาะน้ำบาดาลในที่ดินของจำเลย บริเวณพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรียังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตน้ำบาดาล แต่เมื่อต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) กำหนดเขตน้ำบาดาลเพิ่มเติมโดยให้ท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตน้ำบาดาล และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2538 เป็นต้นไป การประกอบกิจการน้ำบาดาลโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลทั้งสิบสองบ่อในที่ดินจำเลยที่อยู่ในเขตน้ำบาดาลตามฟ้องจะต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมของโจทก์ และจำเลยจะต้องขอรับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามมาตรา 17 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 และจำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามที่ระบุไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 จึงไม่ได้มีผลย้อนหลังบังคับแก่การขุดเจาะน้ำบาดาลและการใช้น้ำบาดาลของจำเลยก่อนวันที่ 18 มกราคม 2538
ในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตนั้นโจทก์เรียกเก็บตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) โดยหากผู้รับใบอนุญาตไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำบาดาลก็เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) ข้อ 2 (2) และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2540) ข้อ 3 (2) ที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้ได้ ซึ่งตามกฎกระทรวงทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยไม่คำนึงว่าจะมีการใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่ เพียงใด เพราะเป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณการใช้น้ำบาดาลได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลจากบ่อของผู้ได้รับใบอนุญาตในที่ดินของผู้รับใบอนุญาตนั้นอยู่ในความรู้เห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถตรวจสอบปริมาณน้ำที่ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้จริง กฎกระทรวงจึงกำหนดเป็นภาระของผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะต้องชำระค่าน้ำบาดาลในปริมาณสูงสุดตามใบอนุญาต โจทก์ไม่มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยได้ใช้น้ำบาดาลจริงหรือไม่