คำพิพากษาย่อสั้น
ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน" การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ