คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง