คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้
หลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน