คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3216/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2555 16:23:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยกำหนดเงื่อนไขในข้อ 1 ว่าในการปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่ซื้อขาย ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น และโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ท. ปลูกสร้างบ้านแบบกรรณิการ์ลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย จำเลยและบริษัท ท. ต่างมี บ. และ ธ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งก็เป็นสถานที่เดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นชุดเดียวกัน บริษัท ท. จึงเป็นบริษัทในเครือของจำเลยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่างๆ จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่เพียงผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้ จำเลยจะอ้างการเป็นนิติบุคคลของบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมาปฏิเสธ เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผูกพันกับบริษัท ท. ที่จะต้องคืนเงินค่าปลูกสร้างบ้านและรั้วบ้านหาได้ไม่
เงินที่โจทก์ทั้งสองมอบให้แก่จำเลยในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญามิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงไม่ใช่มัดจำ เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิก จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้ ส่วนเงินค่าที่ดิน ค่าปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านที่โจทก์ทั้งสองชำระให้จำเลย จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยริบเงินดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391

ผู้พิพากษา

วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์
ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน
กษิดิ์เดช จีนสลุต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android